- Home
- หลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)
- ข่าวหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)
- หลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 4
หลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 4
หลักการและเหตุผล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สื่อมวลชนจึงเป็นความหวังหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ความคาดหวังที่จะช่วยบรรเทาและเยียวยาเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมได้เหมือนในอดีต ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็มักถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน เพราะสื่อเป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน สื่อจึงต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างประชาชนกับฐานอำนาจของกลุ่มการเมือง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสื่อจะถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการรับรู้ของสังคม นอกจากการเป็นกระจกเงาที่คอยสะท้อนภาพความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ส่วนสถานการณ์คุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีทั้งรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยและแยบยลจนยากที่จะแยกได้ว่า นั่นคือการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ ความพยายามของกลุ่มทุนที่แอบแฝงเข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเมือง การใช้กลยุทธ์และหลัก การตลาดเข้ามาช่วยในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ชูนโยบายใหม่ๆ เพื่อสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นกับกลุ่มของตัวเอง หลายครั้งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้สื่อมวลชนทั้งหลายที่อาจหลงลืมในบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร มิใช่ปล่อยให้กลุ่มการเมืองเข้ามาทำหน้าที่แทน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งสิ้น
นับเป็นโอกาสอันดี ที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรในวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน เป็นการสร้างองค์ความ
รู้ที่จำเป็นในการช่วยพัฒนาระบบการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นและ ยังช่วยสร้างศักยภาพของสื่อภาคประชาชน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมกับสื่อมวลชน จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้สาธารณชนได้รับรู้ข่าวสารที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางการเมือง การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมไทย
การพัฒนาระบบการสื่อสารที่ดีจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลเกี่ยวกับสื่อในท้องถิ่น การพัฒนาศักยภาพของความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การสร้างระบบการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยเน้นหลักการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของสื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่นและขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เช่น นักวิชาการ องค์กรเอกชนที่แสวงหากำไรและเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ภาคประชาสังคม ทุกส่วนจำเป็นต้องประสานความร่วม มือกับองค์วิชาชีพสื่อมวลชน
เป็นที่น่าสังเกตว่า บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ยังไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดองค์ความรู้และฐานข้อมูลในการทำหน้าที่ของสื่อ ดังนั้น สถาบันอิศรา จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมระยะยาวให้กับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรเอกชนที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร ภายใต้หลักสูตรที่ชื่อว่า “การสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานจากองค์กรด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาการและภาคเอกชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการคิดหาแนวทางกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ และยังสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าทีเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้อง
3. เพื่อให้ตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
4. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับนักวิชาการและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบในหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) ในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีอายุการทำงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 30 ปี จากสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์จากส่วนกลาง และท้องถิ่น จำนวน 30 คน
2. นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มีอายุงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี จำนวน 5 คน
3. ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีอายุงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี จำนวน 5 คน
4. ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 35 ปี จำนวน 5 คน
5. พนักงานองค์กรเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ ที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีอายุ
ไม่เกิน 35 ปี จำนวน 5 คน
6. ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร
จำนวนผู้เข้าอบรม
รวมทั้งสิ้น 50 คน
ค่าใช้จ่ายในการอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
วิธีดำเนินการอบรม
การอบรมหลักสูตรนี้มีวิธีการศึกษาดังนี้
1. การบรรยายและอภิปราย เพื่อช่วยในการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามเนื้อหาวิชาและหัวข้อที่กำหนด โดยเชิญวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ
2. การสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างวิทยากร และผู้เข้าร่วมอบรม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดสัมมนาหรือเสวนากลุ่มย่อยในชั้นเรียน และส่วนที่ 2 เป็นการจัดสัมมนาเวทีสาธารณะของผู้เข้าอบรมในหลักสูตรนี้
2.1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นต่อประเด็นปัญหาที่กำหนด และให้แสดงทัศนะของตนต่อปัญหาดังกล่าว โดยให้กล่าวถึงสภาพปัญหา สาเหตุ และแนวทางในการแก้ไข
2.2. แบ่งผู้เข้ารับการอบรม ออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบในการจัดสัมมนาหรือเสวนาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และนำเสนอผลงานในรูปแบบของรายงานกลุ่มและนำเสนอผลที่ได้ในชั้นเรียนตามวันเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
2.3. ผู้เข้าอบรมหลักสูตร กสต. รุนที่ 4 จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการกำหนดสัมมนาเวทีสาธารณะภายหลังจากสิ้นสุดการอบรม ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 โดยกำหนดหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคมหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
3. การศึกษาดูงาน 2 ครั้ง แบ่งเป็นการศึกษาดูงานในกรุงเทพ และต่างจังหวัด โดยจะเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรด้านสื่อหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และลงพื้นที่เพื่อฝึกปฏิบัติในการทำข่าวเชิงสืบสวน อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน
ระยะเวลาและขอบเขตของการอบรม
การอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 4 ในครั้งนี้ ระยะเวลาของการอบรมรวม 14 สัปดาห์หรือ 3 เดือนครึ่ง ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 – วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 ทุกวันเสาร์ ระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ระยะเวลาในการอบรมรวมประมาณ 90 ชั่วโมง รายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ภาควิทยาการ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมทุกวันเสาร์ เป็นเวลา 14 วัน การอบรมจะแบ่งออกเป็นรูปแบบของการบรรยาย อภิปราย โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้ารับการอบรมร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ตามหัวข้อที่กำหนด ประกอบด้วย
1.1. การบรรยายและอภิปราย 48 ชั่วโมง
1.2. การสัมมนาและนำเสนอผลงาน 18 ชั่วโมง
1.3. การศึกษาดูงานส่วนกลางและภูมิภาค 24 ชั่วโมง
2. ภาคการจัดทำรายงานกลุ่ม ผู้เข้าอบรมทั้ง 5 กลุ่ม จะต้องจัดทำรายงานรายละเอียดเนื้อหาจากการจัดสัมมนา หรือการเสวนาของแต่ละกลุ่ม ให้จัดทำรายงานพร้อมบทสรุป และประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อการเผยแพร่
สู่สาธารณะ
เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม
ในการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) ได้กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการอบรมไว้ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีเวลาเข้าฟังและเสนอความคิดเห็นในห้องเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดหลักสูตร
3. จัดทำเอกสารวิชาการรายงานกลุ่มและส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตร
การอบรมครั้งนี้ แบ่งออกได้เป็น 6 หมวดวิชา ดังนี้
1.การเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ชั่วโมง
2. เศรษฐศาสตร์และทิศทางเศรษฐกิจ จำนวน 9 ชั่วโมง
3. สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน จำนวน 6 ชั่วโมง
4. สังคม วัฒนธรรมและการศึกษา จำนวน 6 ชั่วโมง
5. ความรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนและจริยธรรมวิชาชีพ จำนวน 12 ชั่วโมง
6. วิเคราะห์สถานการณ์ ปัจจุบัน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 1 ว่าด้วยการเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
1.1. กฎหมายมหาชนกับการเมืองไทย : รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
1.2. ปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนในโลกยุคใหม่ จำนวน 3 ชั่วโมง
1.3. ระบบสังคมไทยกับประชาธิปไตย จำนวน 3 ชั่วโมง
1.4. ทักษะและเทคนิคข้อควรรู้ในการทำข่าวอาชญากรรม จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 2 ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์และทิศทางเศรษฐกิจ จำนวน 9 ชั่วโมง ประกอบด้วย
2.1. เศรษฐศาสตร์มหภาค : ปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 3 ชั่วโมง
2.2. ทิศทางตลาดเงินตลาดทุนไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
2.3. เศรษฐศาสตร์ภาครัฐ กรณีศึกษาโครงการประชานิยม จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 3 ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
3.1. วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
3.2. ปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยและภูมิภาคเอเชีย จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 4 ว่าด้วยปัญหาสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา จำนวน 6 ชั่วโมง ประกอบด้วย
4.1. รู้เท่าทันการคอรัปชั่นในสังคมไทย จำนวน 3 ชั่วโมง
4.3. อนาคตการศึกษาไทยในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 5 ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนและจริยธรรมวิชาชีพ จำนวน 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย
5.1. เทคนิคการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างมืออาชีพ จำนวน 3 ชั่วโมง
5.2. กฎหมายเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 3 ชั่วโมง
5.3. จริยธรรมสื่อมวลชน จำนวน 3 ชั่วโมง
5.4. สื่อมวลชนกับการปรับตัวในยุคหลอมรวมสื่อ จำนวน 3 ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ 6 ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย
6.1. ประเด็นร่วมสมัยตามสถานการณ์ จำนวน 3 ชั่วโมง